เทคโนโลยีการสื่อสารกับเด็กปฐมวัย (บทความเชิงวิชาการ)

   เทคโนโลยีการสื่อสารกับเด็กปฐมวัย

โลกปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร  คนในโลกปัจจุบันต้องรับข้อมูลข่าวสารที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  ข้อมูลที่รับเข้ามานั้น มีทั้งข้อมูลที่มีประโยชน์และข้อมูลที่ไร้ค่า  บุคคลจึงต้องมีความสามารถไม่เพียงแต่การรับข้อมูลหรือสื่อสารเท่านั้น  แต่จะต้องมีความสามารถในการเลือกสรร คัดกรอง และเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริง  และสามารถเลือกนำข้อมูลสาระมาสู่การสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเอง การให้การศึกษาเพื่อสร้างความสามารถดังกล่าวให้แก่เด็ก  จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนได้รับการพัฒนาและพร้อมรับกับการเปลี่ยน แปลงของโลกที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ผลกระทบต่อเด็กปฐมวัย
โลกแห่งข่าวสารข้อมูลนั้น  มีผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยหลายประการ ดังนี้
1.  การพัฒนาความสามารถในการสื่อสาร  ทั้งการรับสารและการส่งสาร  ทั้งนี้ มิใช่เฉพาะด้านที่ใช้ติดต่อสื่อสารเท่านั้น  แต่รวมทั้งการรับสารที่มาจากช่องทางที่หลากหลายขึ้นจากเดิม
2.  การพัฒนาความสามารถในการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเด็กจะต้องได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะในการสืบค้นในแนวทางต่างๆที่เพิ่ม ขึ้นจากเดิม ดังนี้
2.1  การรู้จักวิธีสืบค้นด้วยวิธีการต่างๆ
2.2  การแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง
2.3  การรู้จักกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับ
ผู้ใหญ่จะช่วยเตรียมเด็กให้อยู่ในยุคดังกล่าวได้อย่างไร
ผู้ใหญ่มีหน้าที่ในการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้และพร้อมที่จะก้าวไป สู่สังคมที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆได้อย่างมั่นคง  ในโลกยุคข่าวสารข้อมูล  เด็กปฐมวัยต้องได้รับการจัดประสบการณ์เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียน รู้  โดยผู้ใหญ่สามารถจัดเตรียมประสบการณ์ให้เด็ก ดังนี้
1.  การพัฒนาให้เด็กมีความสามารถด้านการสื่อสารอย่างเต็มที่ในช่วงวัย โดยเฉพาะการใช้ ภาษาแม่ ( ภาษาไทย )ที่เข้มแข็ง  สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ  และพร้อมในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆได้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน
2.  การสร้างความคุ้นเคยและรับรู้ภาษาของเด็ก ทั้งวจนภาษา และภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ โดยใช้วิธีการสอนภาษาแบบธรรมชาติ ((Whole language)
3.  การให้โอกาสและการสนับสนุนให้เด็กใช้วิธีการสืบค้นข้อมูลด้วยวิธีที่หลากหลาย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีต่างๆที่มีในชีิวิตประจำวัน
เด็กปฐมวัยกับการใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษาในความหมายทั่วไป หมายถึงเครื่องมือ เครื่องใช้ที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งนำมาใช้ในการสนับสนุนการจัดการศึกษา ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีทัศน์  เครื่องเล่นและเครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ฯลฯ และช่วยในการเรียนรู้แบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการรับและส่งสารต่างๆ และมีผลต่อการศึกษา โดยเป้าหมายของการศึกษาได้เพิ่มมิติด้านเทคโนโลยีเข้าไปด้วย  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและปรับตัวเข้ากับ สังคมแห่งเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม  ดังนั้น หน้าที่ของสังคม  ครอบครัว และครู คือการให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ไม่กลายเป็นผู้มีช่องว่างของเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างทันต่อเหตุการณ์
ในปัจจุบันเด็กปฐมวัย  ได้เจริญเติบโตขึ้นมาในโลกของเทคโนโลยีและได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ใน สถานศึกษาอย่างแพร่หลาย  ทั้งในแง่ของการใช้เพื่อการจัดการข้อมูลและใช้ในการศึกษา  และที่กล่าวถึงโดยทั่วไป  เทคโนโลยีที่นำมาใช้มากกับเด็กปฐมวัยปัจจุบันคือ คอมพิวเตอร์
ในวงวิชาการ การศึกษาปฐมวัยได้มีการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในเด็ก ปฐมวัยไว้ทั้งด้านบวกและด้านต่างออกไป  ดังความเห็นของสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับเด็กปฐมวัยไว้ว่า  แม้จะมีผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลในเชิงบวกของการใช้เทคโนโลยี  โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาการของเด็ก  แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า  การนำคอมพิวเตอร์มาใช้จัดกิจกรรมนั้น  ยังไม่แสดงถึงคุณค่าที่มีต่อการพัฒนาเด็กเทียบเท่ากับกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมศิลปะ การเล่นบล็อก เล่นน้ำ เล่นทราย  หนังสือ กิจกรรมสมมติ ฯลฯ  ที่จัดอยู่ตามปกติในชั้นเรียนของเด็ก  และมีข้อคิดเห็นว่า  ถึงแม้คอมพิวเตอร์จะเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนา เด็ก  แต่ก็มีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมและอาจให้ผลตรงข้ามกับที่คาด หวังไว้  สิ่งสำคัญในการนำคอมพิวเตอร์มาเป็นกิจกรรมหรือเครื่องมือสำหรับเด็ก คือ ซอฟแวร์ ที่ต้องมีการเลือกสรรอย่างดี  คัดเลือกที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้และการคิดสร้างสรรค์  ดังนั้น จึงเสนอแนะว่า  นักวิชาการหรือผู้ปฏิบัติงานกับเด็ก  จะต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมากในการคัดเลือก ซอฟแวร์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งการใช้วิธีการที่เหมาะสมในการนำคอมพิวเตอร์ไปสู่การเรียนรู้ของเด็ก  และจัดเวลาของการเล่นให้มีความสมดุล มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องเล่นชนิดอื่นๆในห้องเรียน
ข้อแนะนำในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กปฐมวัย
เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาสู่การใช้ในแง่ของการ เป็นเครื่องมือการเรียนรู้  ที่ผ่านกระบวนการการเล่นเหมือนเครื่องเล่นชนิดอื่นๆ  จึงมีข้อแนะนำในการนำเทคโนโลยีมาจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ดังนี้
1.  การนำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กปฐมวัยนั้นต้องพิจารณาในหลักของความสอดคล้องกับ หลักการสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก  และสอดคล้องกับหลักสูตร  ตลอดจนการประเมินผลพัฒนาการตามวัตถุประสงค์การศึกษา  ครูต้องใช้ดุลยพินิจในการนำมาใช้ให้เหมาะสม  คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  และบริบททางสังคมของเด็กด้วย
2.  การพิจารณาด้านความเหมาะสมของเทคโนโลยีนั้น จะต้องช่วยพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและทางสังคมควบคู่กันไป
3.  การนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องนำมาใช้โดยการบูรณาการกับเครื่องมืออื่นๆ ในลักษณะของการเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้  และใช้เป็นสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก
4.  เทคโนโลยีมีความซับซ้อน  และมีศักยภาพสูง เช่น คอมพิวเตอร์  ครูจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการนำมาใช้ที่ชัดเจน  คือให้เป็นเสมือนเครื่องมือที่สนับสนุนการเรียนรู้  แต่มิใช่นำมาใช้ในลักษณะของการเป็นบทเรียน หรือ สาระความรู้ที่ผู้เรียนต้องเรียนอย่างเคร่งเครียด หรือเรียนเป็นระบบ
5.  นักการศึกษาปฐมวัยต้องเข้าใจว่า  เทคโนโลยีทางการศึกษานั้น  เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการสร้างเสริมการเรียนรู้ของเด็ก  โดยเฉพาะการส่งเสริมช่วงความสนใจ การแก้ปัญหา และการยอมรับเครื่องมือเครื่องใช้ในโลกปัจจุบัน  ดังนั้น จึงควรให้โอกาสเด็กทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยี และรวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองในประเด็นนี้ด้วย
จะเห็นได้ว่า  การนำเทคโนโลยีมาใช้ในเด็กปฐมวัยนั้น  มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากโลกปัจจุบันและอนาคต  เป็นโลกแห่งเทคโนโลยี  และนับวันจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น  การนำเทคโนโลยีมาสู่เด็ก จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคย และรับรู้ว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับเครื่องมืออื่นๆ ที่เขาสามารถทำความรู้จัก เข้าใจ และใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้  ข้อสำคัญ ครูและผู้ใหญ่จะต้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวและไม่นำเทคโนโลยีโดย เฉพาะคอมพิวเตอร์มากำหนดเป็นบทเรียนสำหรับเด็ก รวมทั้งการกำหนดการใช้อย่างเหมาะสมกับเด็กทั้งด้านการเลือกซอฟแวร์ การกำหนดช่วงเวลาและลักษณะของการใช้  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
……………
เอกสารอ้างอิง
วรนาท รักสกุลไทย (2537) ประมวลสาระชุดวิชาหลักการและแนวคิดทางการปฐมวัยศึกษา.หน่วยที่ 9.         นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

calendar ของฉัน